Study BME in Thailand 2007

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อิเล็กทรอนิกส์พิมพ์ได้(2)

อิเล็กทรอนิกส์พิมพ์ได้...โอกาสของไทยมาถึงแล้ว
Body: ดร.อดิสร เตือนตรานนท์
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
กรุงเทพธุรกิจ 2008 March, 14

อิเล็กทรอนิกส์แบบพลาสติก (Plastic Electronics) หรือที่เราอาจเรียกว่า E-plastic ทำจากวัสดุประเภทโพลิเมอร์แบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่สามารถนำไฟฟ้าได้และมีคุณสมบัติคล้ายวัสดุกึ่งตัวนำ นำมาสามารถสร้างเป็นวงจรทรานซิสเตอร์แบบฟิล์มบางบนวัสดุได้หลากหลายแบบรวมทั้งพลาสติก มันสามารถสร้างขึ้นด้วยเทคนิคการพิมพ์แบบอิงค์เจ็ต แต่แทนที่จะเป็นหมึกพิมพ์ เราก็ใช้หมึกโพลิเมอร์แทน หรือใช้การพิมพ์แบบซิลสกรีน คล้ายเวลาเราสกรีนเสื้อยืด แต่เรากำลังพิมพ์ลายที่เล็กและละเอียดในระดับไมโครเมตร หรือการพิมพ์แบบม้วนต่อม้วนเหมือนการพิมพ์หีบห่อบรรจุภัณฑ์เพื่อผลิตเป็นจำนวนมากในคราวเดียวกัน และอีกวิธีหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นที่สนใจกันมากและยังอยู่ในขั้นการวิจัยคือการสร้างโดยการพิมพ์กดหรือ Stamping โดยใช้แม่พิมพ์ที่มีลวดลายนูนเพื่อพิมพ์ลวดลายโพลิเมอร์เป็นลายวงจรที่เล็กระดับนาโนเมตร เทคนิคนี้คล้ายการพิมพ์หมึกด้วยตรายาง ดังนั้นแน่นอนว่าข้อดีของอิเล็กทรอนิกส์แบบพิมพ์ได้หรือเรียกว่า Printed Electronics นี้ก็คือไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือราคาแพงสำหรับการสร้างวงจรประเภทนี้ (การสร้างโรงงานผลิตชิพอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 ล้านบาทต่อโรงงาน) ล่าสุดข้อมูลจากบริษัทวิจัย Nanomarkets คาดการณ์ว่าตลาดผลิตภัณฑ์ที่ทำจากอิเล็กทรอนิกส์พลาสติกนี้จะเติบโตจากประมาณ 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปเป็น 5,800 ล้านเหรียญ (ประมาณ 230,000 ล้านบาท) ภายในปี ค.ศ. 2009 ถึงแม้ตัวเลขนี้ยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับยอดขายชิพอิเล็กทรอนิกส์ต่อปีของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอินเทล แต่ก็เป็นเทคโนโลยีที่บริษัทคู่แข่งอย่างโมโตโรล่าให้ความสำคัญและทุ่มวิจัยอยู่ในปัจจุบัน แน่นอนว่าความเร็วในการทำงานของชิพพลาสติกนี้ยังเทียบชั้นไม่ได้กับชิพแบบซิลิกอน จึงอาจจะไม่เหมาะกับการใช้เป็นชิพหน่วยประมวลผลหรือหน่วยความจำ แต่ในการใช้งาน
บางอย่างที่ความเร็วของวงจรไม่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างเช่น จอแสดงผล หรือแผงเซลล์แสงอาทิตย์ หรือในวงจรเล็กๆ ไม่ซับซ้อนอย่างบัตรสมาร์ทการ์ด หรือชิพ RFID ซึ่งสามารถพิมพ์ลายวงจรบนหีบห่อได้โดยตรงเช่นเดียวกันกับการพิมพ์ตัวหนังสือบนกระดาษ ก็น่าจะมีโอกาสทางการตลาดอยู่ไม่น้อย ข้อมูลวิจัยจากบริษัท IDTechEX คาดการณ์ได้ว่าในอีกสิบปีข้างหน้า (ค.ศ. 2017) จะมีผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างด้วยการพิมพ์เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 90 ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์จะต้องเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตอย่างแน่นอน ดังนั้นมันเป็นโอกาสของเราแล้ว อุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทยที่มีความก้าวหน้าเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย ถ้าเข้าใจในผลกระทบของเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์พลาสติกก็จะต้องรีบปรับตัวและเตรียมตัวให้พร้อมรับกับการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ของตนกับการพิมพ์วัสดุโพลิเมอร์อื่นๆ ที่ไม่ใช่หมึกพิมพ์แต่เพียงอย่างเดียว ประเทศไทยจะได้ไม่ตกขบวนรถไฟ และใครจะเชื่อว่าในอนาคตไทยอาจจะเหมือนไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดในปัจจุบันก็ได้เพราะอิเล็กทรอนิกส์พิมพ์ได้นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น